ปรากฏการณ์เอลนินโญ่ (El Ni?o Phenomena) และลานินญ่า (La Ni?a Phenomena)(ภัยพิบัติ)
เนื่องจากส่วนต่างๆของโลกได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน (โดยเฉพาะแถบเส้นศูนย์สูตรจะเป็นบริเวณที่ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากกว่าส่วนอื่นของโลก ความร้อนส่วนใหญ่จะถูกเก็บสะสมอยู่ที่ผิวหน้าของน้ำในมหาสมุทร น้ำบริเวณนี้จึงอุ่นกว่าที่อื่น) จึงมีการระเหยของไอน้ำในมหาสมุทรไม่เท่ากัน เป็นผลให้มีความดันที่แตกต่างกันไปตามตำแหน่งต่างๆบนโลก จนเกิดเป็นการเคลื่อนที่หมุนวนของกระแสอากาศตามช่วงต่างๆ ของ ละติจูดในบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ เช่น ฮาร์ดเลย์เซลล์ (hadley cell), เฟอร์เรลเซลล์ (Ferrel cell), โพลาร์เซลล์ (Polar cell) (ดูภาพที่ 5- 6) กอร์ปกับมีแรงบิดเนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลก หรือแรงคอริโอลิส (coriolis force) ทำให้เกิดเป็นลมชนิดต่างๆ เช่น ลมสินค้า (trade winds), เวสเตอร์ไลส์(Westerlies), อิสเตอร์ไลส์ (Easterlies)
ลมสินค้าหมุนวนอยู่แถบเส้นศูนย์สูตร โดยจะหมุนตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกภาคเหนือ (เรียกว่าลมสินค้าตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ NE trade winds) และหมุนทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกภาคใต้ (เรียกว่าลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SE trade winds) (ภาพที่ 5- 6) กระแสลมอันรุนแรงทั้งสองชนิดนี้จะช่วยกันพัดพาขับเคลื่อนกระแสน้ำอุ่นที่ผิวหน้าของมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร ให้วิ่งจากมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก (ด้านแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เช่น เปรู เอควาดอร์ ฯลฯ) สู่มหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก (ด้านแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของประเทศ เช่นอินโดนีเซีย นิวกินี และออสเตรเลีย ฯลฯ) (ภาพที่ 5- 7-a) เป็นผลให้กระแสน้ำเย็นจากท้องทะเลเบื้องล่างมีโอกาสพัดพาสารอาหารจากท้องมหาสมุทรให้ขึ้นมากระจายหล่อเลี้ยงพื้นน้ำเบื้องบนที่ชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ (ภาพที่ 5- 8) และมีฝนตกหนักบนแผ่นดินด้านแปซิฟิกด้านตะวันตก
สาเหตุของปรากฏการณ์เอลนินโญ่และลานินญ่า
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในมหาสมุทรจะกระทบต่อบรรยากาศและรูปแบบของภูมิอากาศรอบโลก ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศก็จะกระทบต่ออุณหภูมิของมหาสมุทรและกระแสน้ำเช่นกัน ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่อุณหภูมิ ที่ผิวหน้าน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน (Tropical Pacific) แถบเส้นศูนย์สูตรนี้ (ภาพที่ 5- 9) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพื้นผิวของมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดปรากฏการณ์เอลนิโนและปรากฏการณ์ลานินา ดังนี้1.ปรากฏการณ์เอลนิโนเกิดจากการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก ที่ทำให้ความดันบริเวณตะวันออกต่ำกว่าความดันบริเวณตะวันตก จึงเกิดเป็นลมที่พัดสวนทางกับลมสินค้า จากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก โดยลมต้านนี้อาจมีความแรงพอที่จะพัดพากระแสน้ำอุ่นให้ไหลย้อนทิศทางได้ด้วย (ภาพที่ 5- 7 - b) โดยเฉพาะเมื่อลมสินค้ามีการอ่อนตัวลงในบางเดือนของปี (ประมาณเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์) ปรากฏการณ์เอลนิโนทำให้แปซิฟิกตะวันออก มีความอุ่นอย่างผิดปกติ โดยอุณหภูมิอาจสูงกว่าปกติ 2?C – 3.5?C จึงเรียกว่า “the El Nino warming” และความร้อนในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ จะทำให้มีก้อนเมฆสะสมอยู่ในมหาสมุทรมากขึ้น ในขณะเดียวกันชั้นน้ำอุ่นนี้จะทำการปิดกั้นการไหลขึ้นสู่เบื้องบนของกระแสน้ำเย็นจากท้องมหาสมุทร ทำให้ เทอร์โมฮาไลน์ มีการเปลี่ยนทิศทาง
สภาวะเอลนิโนจะกินเวลาประมาณ 9-12 เดือน เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิโนจะเกิดพร้อมกับความผันผวนของภูมิอากาศในซีกโลกภาคใต้ มันจึงมักถูกเรียกรวมกันไปว่า “ปรากฏการณ์เอนโซ” (ENSO, El Ni?o and Southern Oscillation)
2.ในทางตรงกันข้าม ปรากฏการณ์ลานินาเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างผิดปกติของผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ทำให้ความดันบริเวณตะวันตกต่ำกว่าความดันบริเวณตะวันออกจึงเกิดเป็นลมที่พัดเสริมลมสินค้าจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ปรากฏการณ์ลานินา
ความหมายของเอลนินโญ่และลานินญ่า
เอลนิโน เป็นภาษาสเปน มีความหมายว่า “เด็กผู้ชาย” แต่เนื่องจากปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดในช่วงปลายของเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงคริสตมาส จึงมักเรียกว่า “บุตรแห่งพระเจ้า” หรือ "a warm episode"ลานินา มีหลายความหมายเช่น “เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ” แต่บางครั้งก็มีคนเรียกว่า “El Viejo” ที่แปลว่า “ชายแก่” ในขณะที่หลายคนเรียกว่า “anti-El Ni?o” หรืออาจเรียกง่ายๆว่า "a cold event" หรือ "a cold episode"
ลานินามักจะถูกเรียกว่าเป็นน้องสาวที่ชั่วร้ายของเอลนิโน อย่างไรก็ตามอิทธิพลของลานินาต่อการประมงตามชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ จะรุนแรงน้อยกว่า ปรากฏการณ์เอลนิโน ทำให้ลานินาได้รับความสนใจน้อยกว่าเอลนิโน
ผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงบริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกและการหมุนเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร (Lim, 1984; Berlage, 1966; และ Bjerkness, 1966, 1969, 1972) ดังนั้นปรากฏการณ์ทั้งสองจึงส่งผลกระทบต่อทิศทางการไหลหมุนเวียนของเทอร์โมฮาไลน์ และส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศโลก จนเกิดเป็นภัยพิบัติต่างๆ เช่น ความแห้งแล้ง อดหยาก และอุทกภัย (ภาพที่ 5- 11) ดังนี้1.ปรากฏการณ์เอลนิโน ทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก มีความชุ่มชื้นกว่าปกติจนเกิดเป็นอุทกภัย ในขณะที่มหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก เกิดความแห้งแล้ง (ภาพที่ 5- 11-a) โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1OC บนมหาสมุทรจะเพิ่มความรุนแรงให้แก่เฮอริเคนที่เกิดขึ้นในแถบอิเควเตอร์แต่มันก็มีข้อดีบางประการเช่นช่วยลดความรุนแรงและจำนวนครั้งของการเกิดเฮอริเคนแห่งแอตแลนติกในแอตแลนติกเหนือ และทอร์นาโด ในตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา
2.ปรากฏการณ์ลานินาทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกมีความชุ่มชื้นกว่าปกติจนเกิดเป็นอุทกภัย ในขณะที่มหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกเกิดความแห้งแล้ง (ภาพที่ 5- 11 -b)
ปรากฏการณ์ลานินาและเอลนิโน จะส่งอิทธิพลไปทั่วโลก โดยผลกระทบที่มีต่อภูมิอากาศโลก จะมีแนวโน้มอยู่ในทิศทางที่ตรงข้ามกัน ทำให้ความแปรปรวนของอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเกิดในทิศทางที่ตรงข้ามกันด้วย ระบบภูมิอากาศโลกจึงมีการสลับไปมาทุกๆ 3-5 ปีโดยเฉลี่ย การสลับระหว่างช่วงแห่งความอบอุ่นของสภาวะเอลนิโน และสภาวะปกติ (หรือช่วงแห่งความหนาวเย็น ของสภาวะลานินา) นี้สามารถบ่งชี้ ได้ด้วยดัชนีของคลื่นแห่งความผันผวนของความดันบรรยากาศในซีกโลกภาคใต้ (Southern Oscillation Index, S.O.I) ในภาพที่ 5- 12
S.O.I เป็นการวัดความดันที่แตกต่างกันระหว่างเมืองดาร์วินในออสเตรเลียและเมืองตาฮิติในแปซิฟิกกลาง ค่าลบของ S.O.I หมายถึงโอกาสในการเกิดสภาวะเอลนิโน และค่าบวกหมายถึงโอกาสในการเกิดสภาวะลานินา โดยค่าดัชนีจะชี้ให้เห็นถึง ความรุนแรงและระยะเวลาของสถานการณ์ ด้วย
ค่า S.O.I ได้ถูกบันทึกมานานกว่า 100 ปีแล้ว ทำให้ได้ค้นพบว่า ปรากฏการณ์เอนโซ ได้ เกิดอยู่ในแปซิฟิก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยคลื่นแห่งความผันผวนนี้ มีแอมพลิจูดที่แตกต่างกันมาก ในขณะที่ มีความถี่ค่อนข้างจะคงที่
จากปี 1950 ถึง 1977 มีสภาวะเอลนิโนเกิดขึ้นร้อยละ31มีสภาวะลานินาเกิดขึ้นร้อยละ 23 และมีสภาวะปกติเกิดขึ้นร้อยละ 46 ในช่วงนี้ การเกิดปรากฏการณ์เอลนิโนและลานินา จะมีจำนวนครั้งที่ใกล้เคียงกัน จนเกิดเป็นคลื่นแห่งความผันผวนของความดันบรรยากาศ แต่สิ่งที่น่ากังวลใจสำหรับนักวิทยาศาสตร์คือ ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา พฤติกรรมของคลื่นแห่งความผันผวนนี้ได้เบี่ยงเบนไป โดยปรากฏการณ์เอลนิโน เกิดบ่อยครั้งมากขึ้นจนผิดปกติและมีแอมพลิจูดที่สูงขึ้น (ภาพที่ 5- 12) ตัวอย่างเช่นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีเอลนิโนเกิดขึ้นถึง 9 ครั้งทุก ๆ 2.2 ปี (ในอดีตเคยเกิดทุก 7 ปี)ในขณะที่มีปรากฏการณ์ลานินา เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว นั่นหมายความว่าคลื่นแห่งความผันผวนของความดันบรรยากาศในซีกโลกภาคใต้ กำลังหมดสิ้นลงแล้วจากการค่อยๆหายตัวไปของปรากฏการณ์ลานินา โลกจึงมีแต่ความร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะปรากฏการณ์ลานินาจะช่วยยื้อให้ภูมิอากาศโลกกลับสู่สภาพปกติได้ พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนนี้มีความรุนแรงมาก ในปี 1998 มี ซึ่งอาจเป็นเพราะ มีสภาวะโลกร้อนเป็นตัวเร่งด้วยก็ได้
เนื่องจากในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นครึ่งองศาเซลเซียส เป็นสิ่งที่นอกจากจะสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (ภาพที่ 5- 3) แล้วยังสอดคล้องกับช่วงระยะเวลาในการเกิดเอลนิโนด้วย(ภาพที่ 5- 13) นั่นแสดงให้เห็นว่าภูมิอากาศของโลกนั้นมีความหวั่นไหวอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆแม้แต่เพียงเล็กน้อย เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เปลี่ยนเพียงเล็กน้อยบนพื้นที่เล็กๆในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ก็สามารถทำให้เกิดรูปแบบของความแห้งแล้งและอุทกภัยบนพื้นที่ต่างๆทั่วโลกซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยความแห้งแล้งที่เกิดบ่อยครั้งขึ้นนี้มีศักยภาพสูงในการทำลายป่าฝนในทุกๆ 2-3 ปี จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อป่าไม้ในเขตอเมซอน รวมทั้งทำลายป่าไม้ในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยัง กระทบต่อระบบนิเวศน์ของสรรพชีวิตโดยเฉพาะสัตว์น้ำและกระตุ้นการระบาดของแมลงและโรคบางชนิด
ในปัจจุบัน ยังมีปัญหาอีกมากมายให้นักวิทยาศาสตร์ต้องขบคิด เกี่ยวกับแนวโน้มของการเกิดที่บ่อยครั้งขึ้นของปรากกฎการณ์เอลนิโนและความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นของมัน เนื่องจากสภาวะโลกร้อน งานวิจัยจะช่วยแยกแยะความแปรปรวนตามธรรมชาติออกจากความแปรปรวนเนื่องจากฝีมือมนุษย์ หรือหาความเชื่อมโยงระหว่างกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอีกทศวรรษหน้า และผลกระทบต่างๆที่จะตามมา